เรื่องน่ารู้…เกี่ยวกับการ จดโดเมน

เมื่อมีการตั้งชื่อโดเมน และเลือกประเภทโดเมนของเว็บไซต์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขั้นตอนต่อไปคือการ จดโดเมน ซึ่งปัจจุบันผู้ขอ จดโดเมน สามารถติดต่อกับผู้รับ จดโดเมน ได้โดยตรง แต่ด้วยความยุ่งยากทางด้านการจัดเตรียมเอกสาร ภาษาที่ใช้กรอกในเอกสาร และความสะดวกสบายในการดำเนินการติดต่อประสานงาน จึงทำให้มีการรับจดโดเมนผ่านตัวแทน หรือผู้ให้บริการจดโดเมนซึ่งจะติดต่อไปยังผู้ดูแลฐานข้อมูลโดเมนอีกที 

ดังนั้นการ จดโดเมน ผ่านตัวแทน เจ้าของโดเมนจำเป็นต้องตรวจสอบข้อมูลและความถูกต้องต่างๆ ให้ครบถ้วน ซึ่งมีรายละเอียดอะไรบ้าง ลองมาติดตามอ่านกันได้ดังนี้

ขั้นตอนในการจดโดเมน  

การจดโดเมน ก็เหมือนกับการจดบริษัทหรือเครื่องหมายการค้า ซึ่งผู้ใดจดทะเบียนก่อนผู้นั้นย่อมมีสิทธิ์ก่อน แต่ด้วยความไม่แน่นอนในช่วงเวลาที่ผู้ยื่นจดโดเมนได้ยื่นคำร้องขอจดโดเมน หรือนับตั้งแต่มีการอนุมัติรับจดโดเมนเสร็จสมบูรณ์ แต่ถ้าหากเปรียบเทียบกับการจดบริษัทเมื่อได้ชื่อบริษัทแล้ว ต้องยื่นจดทะเบียนภายใน 30 วันนับตั้งแต่วันที่นายทะเบียนพิจารณาและจองชื่อให้ได้ แต่หากพ้นกำหนดระยะเวลา 30 วัน ถือว่าชื่อดังกล่าวบุคคลอื่นสามารถนำไปจดทะเบียนต่อได้ จะไม่เหมือนกับการจดโดเมนเพราะระยะเวลาการดำเนินการขึ้นอยู่กับผู้ให้บริการนั้นๆ   

ขั้นตอนในการจดโดเมนควรหาบริษัทหรือผู้ให้บริการรับจดโดเมนที่มีคุณภาพ จากนั้นทำตามขั้นตอนดังนี้

1.ตรวจสอบรายชื่อโดเมนว่ามีรายชื่อซ้ำกันหรือไม่ จากนั้นให้ตั้งชื่อโดเมนที่สามารถใช้ได้ 

2.ตรวจสอบค่าใช้จ่ายโดยเลือกจำนวนปีที่ต้องการใช้โดเมน

3.เตรียมเอกสารที่ใช้ประกอบการจดโดเมน 

4.ทำการกรอกรายละเอียดต่างๆ ให้ครบถ้วน 

5.ทำการสั่งซื้อ เมื่อสั่งซื้อสำเร็จผู้ให้บริการจะออกใบเสร็จรับเงิน จากนั้นให้ตรวจสอบข้อมูลให้เรียบร้อยว่าชื่อตรงหรือไม่ (ข้อมูลจาก DEMETER)           

เอกสารที่ใช้จดโดเมน

ปัจจุบันการจดโดเมนจากผู้รับจดทะเบียนเป็นการดำเนินการของภาคเอกชน ซึ่งสามารถเป็นผู้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมการจดโดเมนได้โดยอิสระ ทั้งนี้ในด้านเอกสารที่ใช้ในการจดโดเมนมีอะไรบ้าง สามารถอธิบายได้ดังนี้

1.กลุ่มบุคคลทั่วไป บริษัท องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ (.in.th) เอกสารที่ใช้สามารถแยกได้เป็น 2 ประเภท คือ 

ประเภทบุคคลทั่วไป เอกสารที่ใช้ประกอบด้วยสำเนาบัตรประจำตัวประชาชน สำเนาใบขับขี่ หนังสืออนุญาตประกอบการทำงานของคนต่างด้าว โดยเลือกใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง หากกรณีผู้ขอจดโดเมนอายุยังไม่ถึง 20 ปีบริบูรณ์ จะต้องใช้สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของบิดาหรือมารดาแทนได้ โดยต้องเขียนกำกับว่า เพื่อจดโดเมนให้กับใคร และเมื่อผู้ขอจดโดเมนมีอายุครบ 20 ปีบริบูรณ์แล้วก็สามารถเปลี่ยนมาใช้ชื่อของตนเองได้

ประเภทบริษัท องค์กร หรือหน่วยงานต่างๆ เอกสารที่ใช้ประกอบด้วย หนังสือรับรองบริษัท ใบภาษีมูลค่าเพิ่ม (ภ.พ.20) ใบทะเบียนการค้า (ใบ ท.ค.0401) โดยเลือกใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง

2.กลุ่มพาณิชย์และธุรกิจต่างๆ (.co.th) โดยผู้ขอจดโดเมนจะต้องเป็นธุรกิจและพาณิชย์ที่จดทะเบียนในประเทศไทย ซึ่งเอกสารที่ใช้สามารถแยกได้ดังนี้ 

ประเภทชื่อองค์กรพาณิชย์ เอกสารที่ใช้ประกอบด้วย หนังสือรับรองบริษัท ทะเบียนการค้า ใบภาษีมูลค่าเพิ่ม ใบ ภ.พ.01 (ใช้เพื่อยืนยันชื่อภาษาอังกฤษพร้อมมีลายเซ็นรับรองจากเจ้าหน้าที่) และใบ ภ.พ.09 (ใช้เมื่อมีการเปลี่ยนแปลงชื่อบริษัท) โดยเลือกใช้เอกสารอย่างใดอย่างหนึ่ง

ประเภทองค์กรพาณิชย์ต่างประเทศ จำเป็นจะต้องมีตัวแทนจดบริษัทในประเทศไทย เอกสารที่ใช้มีดังนี้ หนังสือรับรองบริษัทต่างประเทศ หนังสือรับรองตัวแทนที่จดบริษัทในประเทศไทย หนังสือรับรองบริษัทที่จดทะเบียนในประเทศไทยเป็นบริษัทตัวแทน และหนังสือรับรองการอนุญาตใช้ชื่อองค์กรต่างประเทศในการจดโดเมน

3.กลุ่มสถาบันการศึกษาในประเทศไทย (.ac.th) เอกสารที่ใช้ประกอบด้วย หนังสือจัดตั้งสถาบันศึกษา (เป็นหนังสือที่ออกจากทางราชการพร้อมเซ็นรับรอง) ในกรณีที่ไม่สามารถแสดงหนังสือจัดตั้งสถาบันศึกษาได้ ให้ทางสถาบันออกหนังสือรับรองหน่วยงานที่สังกัด ที่ตั้งสถาบัน และรับรองการขอจดโดเมน พร้อมทั้งประทับตราและเซ็นรับรองโดยผู้อำนวยการของทางสถาบันนั้นๆ  

4.กลุ่มภาครัฐ (.go.th) เอกสารที่ใช้ประกอบด้วย หนังสือรับรองการจดโดเมนที่ทางหน่วยงานแจ้งชื่อโดเมนให้ทางผู้บริหารเทคโนโลยีสารสนเทศระดับสูง (CIO) ของภาครัฐรับทราบเรื่อง

5.กลุ่มไม่แสวงผลกำไร (.ro.th) เอกสารที่ใช้ประกอบด้วย หนังสือจัดตั้งองค์กร หนังสือรับรองการจดโดเมน กรณีที่ไม่สามารถแสดงหนังสือจัดตั้งองค์กรได้ สามารถแสดงหนังสือรับรองจาก ประธาน คณะกรรมการ จุดประสงค์ที่เด่นชัด สถานที่ตั้งเป็นหลักแหล่ง และมีหน่วยงานที่เป็นที่รู้จักรับรองว่า มีหน่วยงานนี้จริง 

6.กลุ่มหน่วยงานทางทหาร (.mi.th) เอกสารที่ใช้ประกอบด้วย หนังสือรับรองจากกรมการสนเทศทหาร กองบัญชาการทหารสูงสุด อนุญาตให้หน่วยงานหรือองค์กรจดโดเมนภายใต้ .mi.th ได้

7.กลุ่มโทรคมนาคม (.net.th) เอกสารที่ใช้ประกอบด้วย ใบอนุญาตประกอบกิจการโทรคมนาคมทั้ง 3 แบบ ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2544 (ข้อมูลจาก P&T Hosting) มีรายละเอียดดังนี้ 

ใบอนุญาตแบบที่ 1 ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่ไม่มีโครงข่ายโทรคมนาคมเป็นของตนเอง และเป็นกิจการที่มีลักษณะสมควรให้มีการบริการได้โดยเสรี 

ใบอนุญาตแบบที่ 2 ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีหรือไม่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์ให้บริการจำกัดเฉพาะกลุ่มบุคคล หรือเป็นการประกอบกิจการที่ไม่มีผลกระทบโดยนัยสำคัญต่อการแข่งขันโดยเสรีอย่างเป็นธรรม

ใบอนุญาตแบบที่ 3 ได้แก่ ใบอนุญาตสำหรับผู้ประกอบกิจการโทรคมนาคมที่มีโครงข่ายเป็นของตนเอง ซึ่งเป็นการประกอบกิจการที่มีวัตถุประสงค์ในการให้บริการแก่บุคคลทั่วไปจำนวนมาก 

กล่าวโดยสรุป สำหรับผู้ที่จะทำการจดโดเมนเป็นของตัวเอง จะต้องศึกษาข้อมูลเงื่อนไข เอกสารประกอบการจดโดเมนอย่างละเอียด เพื่อป้องกันความผิดพลาดที่อาจจะเกิดขึ้นได้ หากต้องการคำแนะนำเพิ่มเติมสามารถสอบถามบริษัททำเว็บไซต์คุณภาพ เพื่อช่วยตอบคำถามทางธุรกิจให้คุณได้